วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทความที่2 "คุณธรรมนำความรู้" เอาชนะ"ความรู้คู่คุณธรรม"ได้แน่หรือ!!

ตามที่ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยุคปฏิรูปการปกครอง ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันแรกๆ ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ว่าจะเปลี่ยนจุดเน้น หรือเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ โดยจะเน้นให้ผู้เรียนมีคุณธรรมนำความรู้ ไม่ใช่ความรู้คู่คุณธรรมที่ใช้กันมาเหมือนแต่ก่อน จนกลายเป็นสโลแกนที่อ้างถึงของคนทั่วไป โดยเฉพาะคนวงในการศึกษา แต่ในการปฏิบัติจริงแล้ว กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
เพราะสถาน ศึกษาส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียน เก่งด้านวิชาความรู้เป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญในด้านคุณธรรมเท่าใดนัก ดังนั้น ด้านคุณธรรมจึงค่อนข้างแผ่วเบามาก มิได้ดำเนินไปอย่างควบคู่ หรือเท่าเทียมกัน ตามสโลแกนที่ตั้งไว้อย่างสวยหรู
หากเราสามารถนำการจัดการเรียนการสอนด้าน วิชาความรู้กับด้านคุณธรรมขึ้นตราชั่งแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าตราชั่งคงจะเอียงกระเท่เร่ เพราะการจัดการเรียนการสอนที่เน้นด้านความรู้ทางวิชาการนั้น จะมีน้ำหนักกว่าการสอนด้านคุณธรรมหลายเท่า การบูรณาการเข้าด้วยกันก็มีน้อยเต็มที จึงมีผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เด็กอาจจะเรียนเก่งรอบรู้วิชาการด้านต่างๆ แต่มีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม เด็กจะถูกบังคับโดยปริยายจากระบบการศึกษาที่สอนให้มุ่งแข่งขันชิงดีชิงเด่น กัน เพื่อให้ตนเองมีโอกาสเรียนต่อสูงขึ้นในระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก สังคมของเราทุกวันนี้ จึงเต็มไปด้วยคนเก่ง แต่ไร้คุณธรรม มีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันเป็นว่าเล่น ทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตแทบล่มสลายหลายครั้งหลายหน
ดังนั้น การที่ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนปัจจุบัน ออกมาให้นโยบาย หรือจุดยืนดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่กระทรวงศึกษาธิการจะทำได้สำเร็จมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่ว่ากระทรวงจะมีมาตรการ หรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน อันจะนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาที่เน้นคุณธรรมนำความรู้ และการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของผู้บริหารและครูอาจารย์ในสถานศึกษา ซึ่งเคยชินกับการสอนที่เน้นความรู้มากกว่าคุณธรรมได้อย่างไร 


เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การวัดผลประเมินผลจะต้องมีเกณฑ์การวัดด้านคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน ซึ่งค่อนข้างเป็นนามธรรมให้ชัดเจน และอาจจะพาดพิงไปถึงการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ด้วย เพราะเมื่อกระทรวงเปลี่ยนนโยบาย หรือจุดเน้นที่ยึดเรื่องคุณธรรมนำความรู้ สมศ.ก็จะต้องกลับลำใหม่
เพราะเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกในมาตรฐานที่ 5 ซึ่งเป็นการประเมินความรู้ และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตรนั้น อาจมีปัญหาที่ สมศ.ใช้ข้อทดสอบ National Test (NT) เข้าไปวัดความรู้ทางวิชาการในเชิงการเปรียบเทียบ หรือการแข่งขันของเด็ก โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของเด็ก
รวมทั้ง ปัจจัย และสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา จึงทำให้ผลการประเมินมาตรฐานที่ 5 ของสถานศึกษาส่วนใหญ่ค่อนข้างต่ำ มีหลายแห่งได้คุณภาพระดับปรับปรุง ซึ่งตามเกณฑ์การประเมินของ สมศ.ถือว่าถ้าโรงเรียนใดได้มาตรฐานตัวใดตัวหนึ่งใน 14 มาตรฐานอยู่ในระดับปรับปรุง ให้ถือว่าโรงเรียนนั้นล้มเหลวทั้งหมด ไม่ได้เกณฑ์คุณภาพของ สมศ.ถึงแม้ว่ามาตรฐานตัวอื่นจะอยู่ในเกณฑ์ดี หรือพอใช้ก็ตาม ก็จะต้องถูกล้มกระดานไปด้วย
โดยเฉพาะมาตรฐานที่ 1 ด้านคุณธรรมจริยธรรม และมาตรฐาน ที่ 2, 3 ด้านสุขภาพอนามัย และสุนทรียภาพ ซึ่งเป็นเรื่องการอยู่ดีมีสุข ถึงแม้จะได้คะแนนดีเท่าใดก็ตาม ก็จะถูกล้มกระดานไปด้วย ซึ่งคงไม่เป็นธรรมสำหรับสถานศึกษา เพราะจะถูกประณามว่าล้มเหลวขนาดเข้าขั้นโคม่า หรือเข้าห้องไอซียูเลยทีเดียว 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น